วันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง รายงานการพัฒนาแบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
ผู้รายงาน นางอรอนงค์ ดำริห์
ตำแหน่ง ครูชำนาญการ โรงเรียนบ้านอีต้อม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 1
ปีที่ศึกษา ปีการศึกษา 2550


รายงานการพัฒนาแบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบ้านอีต้อม ปีการศึกษา 2550 มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อพัฒนาแบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ของนักเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนที่เรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ3) เพื่อศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการใช้แบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
ประชากรในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งกำลังเรียนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2550 ในตำบลศรีสุข อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ประกอบด้วยโรงเรียนบ้านดู่น้อย จำนวน 15 คน โรงเรียนบ้านศรีสุข จำนวน 16 คน โรงเรียนบ้านหนองห้างหนองกวาง จำนวน 16 คน โรงเรียนบ้านเค็งนาดี จำนวน 17 คน และโรงเรียนบ้านอีต้อม จำนวน 14 คน รวมจำนวนทั้งสิ้น 78 คน
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5โรงเรียนบ้านอีต้อม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 1 ปีการศึกษา 2550 จำนวน1 ห้องเรียนรวม 14 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ได้แก่ แบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 6 เล่ม แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทาง การเรียน จำนวน 40 ข้อ แบบทดสอบย่อยก่อนเรียนและหลังเรียนของแบบฝึกทักษะแต่ละเล่ม เล่มละ 10 ข้อ รวม 60 ข้อ และแบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการใช้แบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การหาค่าประสิทธิภาพ (E1/E2) ของแบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความ ค่าเฉลี่ย ( ) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน(S.D.) ค่าร้อยละ และการทดสอบค่า t (t-test แบบ Dependent Sample) ซึ่งวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรม SPSS for Window

ผลการศึกษาพบว่า
1. แบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษา ปีที่ 5 โดยรวม มีประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 81.43/82.62 ซึ่งมีค่าประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 และเมื่อพิจารณาเป็นรายเล่ม พบว่า เล่มที่ 1 เรื่องการอ่านจับใจความจากนิทาน มีประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 80.71/81.43เล่มที่ 2 เรื่อง การอ่านจับใจความจากเรื่องสั้น มีประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 82.14/83.57 เล่มที่ 3 เรื่อง การอ่านจับใจความจากสารคดี มีประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 81.43/82.14 เล่มที่ 4 เรื่อง การอ่านจับใจความจากบทร้อยกรอง มีประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 80.71/82.14 เล่มที่ 5 เรื่อง การอ่านจับใจความจากเพลง มีประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 82.14/83.57 และเล่มที่ 6 เรื่อง การอ่านจับใจความจากเรื่องในชุมชน มีประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 81.43/82.86 ซึ่งแบบฝึกทักษะทุกเล่ม มีค่าประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 80/80
2. นักเรียนที่เรียนด้วยแบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. ความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อแบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระ การเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยรวม พบว่า มีความคิดเห็นและความพึงพอใจอยู่ใน ระดับมาก